ประเภทของกิจกรรมศิลปะสำหรับเด็ก |
กิจกรรมศิลปะ เป็นกิจกรรมทางความรู้สึกที่มีวัสดุที่ใช้และกลวิธีต่างๆ เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดเป็นผลงานออกมา ดังนั้น การจัดประเภทกิจกรรมศิลปะจึงควรแบ่งตามลักษณะของ ผลงานที่จะให้เด็กสร้างสรรค์เป็นหลักคือ |
1. กิจกรรมศิลปะสองมิติหมายถึง กิจกรรมที่มุ่งให้เด็กสร้างสรรค์ภาพบนระนาบวัสดุที่แบนๆ เช่น กระจก กระดาษ ผ้า ผนัง ปูน พื้นทราย พื้นดิน ฯลฯ โดยใช้กลวิธีวาดเส้น ระบายสี พิมพ์ หรือกดประทับให้เป็นสี ปะติด้วยกระดาษสี เป็นต้น ซึ่งกิจกรรมประเภทนี้ได้แก่ การวาดภาพด้วยนิ้วมือหรือมือ การพิมพ์ภาพด้วยเศษวัสดุต่างๆ การวาดภาพเส้นด้วยดินสอ สีเทียน ระบายสีด้วย สีเทียน สีฝุ่น สีโปสเตอร์ สีน้ำ เป็นต้น ผลงานศิลปะประเภทนี้ดูแล้วแบนราบมีเฉพาะมิติของความกว้าง - ยาว
|
2. กิจกรรมศิลปะสามมิติ หมายถึง กิจกรรมที่มุ่งให้เด็กสร้างสรรค์ภาพ ให้มีลักษณะลอยตัวนูนหรือเว้าลงไปในพื้นโดยใช้วัสดุและกลวิธีต่างๆ ที่เหมาะสมกับวัสดุนั้นๆ เช่น การปั้นทราย ดินเหนียว ดินน้ำมัน กระดาษ แป้ง โดยประกอบวัสดุต่างๆ เข้าด้วยกันกลวิธีที่จะให้เด็กทำกิจกรรมประเภทนี้ไม่ควรมีขั้นตอนที่ซับซ้อน ต้องสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว ง่ายและไม่เสี่ยงต่ออันตราย เช่น วัสดุที่จะนำมาประกอบด้วยกันนั้น ควรเป็นวัสดุประเภทกล่องกระดาษ เมล็ดพืช ลูกปัด เศษไม้ ใบไม้ โดยใช้กาวที่ติดง่าย เป็นต้น
|
3. กิจกรรมศิลปะผสมผสานสองมิติ สามมิติ หมายถึงกิจกรรมที่ให้เด็กสร้างสรรค์ภาพ โดยใช้วัสดุและกลวิธีทางกิจกรรมศิลปะ สองมิติรวมเข้าด้วยกัน เช่นใช้สีโปสเตอร์ระบายบนรูปปั้น ดินเหนียวหรือแป้งโดที่แห้งแล้ว หรือให้เด็กระบายสี ผนึกกระดาษสี(ที่ฉีกหรือตัดเป็นรูปต่างๆ) ตกแต่งกล่องกระดาษ เป็นต้น
การจัดกิจกรรมศิลปะทั้งสามประเภท ควรให้เด็กมีโอกาสร่วมกันเป็นกลุ่มด้วย กลุ่มละประมาณ 3-5 คน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดของผลงาน เช่นให้เขียนภาพผนังด้วยสีเทียนตามเรื่องราวต่างๆ ที่เด็กวัยนี้คุ้นเคย หรือให้ประกอบเศษวัสดุเป็นโครงสร้างต่างๆ ให้ก่อทรายเป็นรูปทรงต่างๆ เป็นต้น
|
การแสดงออกทางศิลปะเพื่ออะไร
|
เราจะพบอยู่ตลอดเวลาว่า เด็กทุกวัยจะสนุกสนานกับการที่ได้ขีดเขียนภาพลงบนพื้นดิน พื้นทราย บนถนน ผนังบ้าน กำแพง เด็กจะเขียนภาพอย่างอิสระด้วยเรื่องราวและรูปแบบที่เขาแต่ละคนชื่นชอบอิสระด้วยบริเวณอันกว้างขวาง จริงอยู่ การขีดเขียนบนกำแพงหรือผนังอาจสร้างความสกปรกเลอะเทอะ แต่ถ้าเราจะย้ายพฤติกรรมของเด็กจากกำแพงหรือผนังมาสู่แผ่นกระดาษ ด้วยความรู้สึกอันอิสระด้วยความรู้สึกอันอิสระและตื่นเต้น เหมือนขณะที่เด็กขีดเขียนอยู่บนกำแพงหรือผนังนั้น เราก็อาจจะได้สนับสนุนและได้ศึกษาการสร้างสรรค์ศิลปะอันมีคุณค่าของเด็กไม่น้อยเลย และการขีดเขียนอันสกปรกเลอะเทอะบนกำแพงหรือผนังก็อาจจะลดลงด้วยเช่นกัน
|
การแสดงออกทางศิลปะของเด็ก ถ้าสังเกตดูแล้วจะพบว่า เด็กแสดงออกเพื่อแสดงถึงพฤติกรรม 3 ด้านกว้างๆ คือ
1. แสดงออกเพื่อให้สัมพันธ์กับการเคลื่อนไหวร่างกาย
2. แสดงอกเพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลิน
3. แสดงออกเพื่อเรียนรู้การสร้างสรรค์และเรียนรู้สิ่งแวดล้อม
|
ประการแรก ทางด้านการแสดงออกเพื่อให้สัมพันธ์กับการเคลื่อนไหวร่างกาย เราจะพบว่า พฤติกรรมต่างๆ ของเด็กดูจะสัมพันธ์กับการเคลื่อนไหวร่างกายทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการเล่น การร้องไห้ การขีดเขียน เพราะกาเคลื่อนไหวร่างกายย่อมส่งผลไปสู่การควบคุมการทำงานในส่วนต่างๆ ของร่างกายและการเติบโตของร่างกายด้วย
|
ประการที่สอง ท้างด้านการแสดงออกเพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลินในโลกของเด็กที่ไม่มีปัญหาแล้ว ดูเหมือนชีวิตเด็กจะเต็มไปด้วยความสุข แม้แต่การร้องไห้ดูจะเป็นความสุขของเขาด้วยเช่นกัน ศิลปะซึ่งเป็นกิจกรรมอันอิสระจึงสอดคล้องกับความต้องการของเด็กและเป็นกิจกรรมที่สนุกสนานเพลิดเพลินมาก
|
ประการสุดท้าย ทางด้านการแสดงออกเพื่อเรียนรู้การสร้างสรรค์และเรียนรู้สิ่งแวดล้อม ในแง่ของการเรียนรู้การสร้างสรรค์แล้วจะพบว่า เด็กที่ทำงานศิลปะอย่างต่อเนื่องจะสามารถเรียนรู้และพัฒนาการใช้วัสดุอุปกรณ์ รูปแบบ และส่วนการเรียนรู้สิ่งแวดล้อมก็จะพบว่า เมื่อเด็กต้องอาศัยโลกภายนอกเป็นสื่อดลใจในการแสดงออกไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ บ้าน สิ่งของ ธรรมชาติ การสร้างสรรค์ ศิลปะจึงเท่ากับเป็นการผลักดันให้เกิดการชื่นชม การรู้จัก การสังเกต ความรู้ ความคิดและการสร้างสรรค์ศิลปะ
|
ผลงานศิลปะของเด็กบอกถึงอะไรบ้าง
|
ผลงานศิลปะของเด็กสามารถบอกถึงสิ่งเหล่านี้
1. วุฒิภาวะ
2. เอกัตภาพ
3. การสื่อสาร
4. อารมณ์
|
เมื่อเด็กเริ่มเขียนภาพ ภาพจะเป็นไปอย่างสับสนตามบุญตามกรรมสะเปะสะปะ แต่ไม่นานนัก เด็กก็จะเริ่มควบคุมมือในการขีดเขียนได้บ้าง การเคลื่อนไหวจะเป็นไปอย่างซ้ำๆ กัน เป็นเสมือนการเริ่มออกแบบรูปทรง ต่อเมื่อเด็กเกิดความพึงพอใจในการเคลื่อนไหว และการเคลื่อนไหวเช่นนั้นก็ดูเป็นอาการที่ดึงดูดความสนใจและการเร้าใจได้อย่างดี ความสัมพันธ์ระหว่างมือเคลื่อนไหวและการมองดูเริ่มปรากฏขึ้น หลังจากนั้น การขีดเขียนจึงจะพัฒนาจากการออกแบบรูปทรงง่ายๆ ไปสู้รูปทรงของสิ่งต่างๆ ต่อไป และระหว่างการเปลี่ยนแปลงระยะนี้เด็กจะเพิ่มการรับรู้ต่อโลกภายนอก มั่นใจในการขีดเขียนและสร้างสรรค์ศิลปะอย่างมีชีวิตจิตใจ
|
ต่อมาเด็กจะเริ่มสำรวจตรวจสอบทั้งสิ่งแวดล้อมและตรวจสอบผลงานศิลปะของตนเอง เริ่มสังเกตรูปทรงของสิ่งต่างๆ บนภาพเขียน รู้จักพูดคุยเกี่ยวกับภาพเขียนและตั้งชื่อภาพ ซึ่งวัยนี้ถือว่าเป็นวัยที่แสดงให้เห็นถึงจินตนาการของเด็กอย่างเด่นชัด เด็กเห็นความสัมพันธ์ระหว่างงานศิลปะกับสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัว พร้อมที่จะกำหนดรูปทรงในเชิงสัญลักษณ์ง่ายๆ เช่น วงกลมคือดวงอาทิตย์ สี่เหลี่ยมคือบ้าน เป็นต้น
|
ต่อจากนั้น เด็กจะพัฒนาการสร้างสรรค์งานศิลปะของตน ก้าวไปสู่การเลียนแบบรูปทรงธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม โดยเริ่มจากการเลียนแบบรูปทรงง่ายๆ ไปสู่รูปทรงที่ซับซ้อน
|
สรุปความคิดของโลเวนเฟลด์เกี่ยวกับขั้นพัฒนาการทางศิลปะของเด็ก (Vivtor Lowenfeld, 1967)
|
ระดับอายุ 0-2 ขวบ
ศิลปะของเด็กเริ่มขึ้นเมื่อเด็กมีประสาทสัมผัสกับสิ่งแวดล้อม และเด็กตอบสนองต่อประสบการณ์ทางด้านประสาทสัมผัสนั้น การสัมผัส การรู้สึก การเห็น การถ่ายทอด การลิ้มรส การฟัง เป็นพื้นฐานอันสำคัญสำหรับการผลิตงานศิลปะ
|
ระดับอายุ 2-4 ขวบ
ขั้นขีดเขียน ในวัยนี้จะวังเกตพบว่า การแสดงออกของเด็กเริ่มแสดงจินตนาการให้ปรากฏเห็นได้ เริ่มการขีดเขี่ยที่ขาดการควบคุมและชื่นชมกับการเคลื่อนไหวที่สับสนนั้น ต่อมาก็จะเริ่มควบคุมมือให้เคลื่อนไหวซ้ำๆ กันเป็นการเพิ่มความสัมพันธ์ระหว่างมือกับตา หลังจากนั้น ก็จะเริ่มกำหนดชื่อรูปทรงต่างๆ ที่สร้างขึ้น เปลี่ยนแปลงจากความพึงพอใจในการเคลื่อนไหว มาสู่ความพึงพอใจในการคิดจิตนาการ เด็กจะเริ่มมองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างภาพเขียนและโลกภายนอก และตระหนักว่าวัตถุที่มองเห็นจะสามารถนำมาสร้างเป็นภาพได้
ผลก็คือ ภาพวาดของเด็กได้มีสภาพเป็นการบันทึกมโนทัศน์และความรู้สึกของเด็กไว้ ภาพเขียนได้แสดงภาพวัตถุและเหตุการณ์ในเชิงสัญลักษณ์ อันจะนำไปสู่พื้นฐานทางทักษะขั้นต่อไป
|
ระดับอายุ 4-7 ขวบ
ขั้นเริ่มสัญลักษณ์ เด็กจะถือตัวเองเป็นศูนย์กลางของสิ่งของต่างๆ ถือตัวเองเป็นที่ตั้ง สัญลักษณ์ที่แสดงให้ปรากฏในภาพเขียนขึ้นอยู่กับการรับรู้ของตนเองเด็กเขียนภาพตามี่เขารู้ ไม่ใช่ตามที่เขามองเห็นเท่านั้น รูปทรงที่โปร่งใสหรือมีลักษณะเหมือนภาพเอกซเรย์ ชี้ให้เห็นว่า เด็กรับรู้อย่างไร ไม่ใช่เพียงการมองเห็นได้มุมใดมุมหนึ่งเท่านั้น ภาพเขียนแสดงถึงความสนใจต่อความสัมพันธ์ของสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำหนดบริเวณว่างบนพื้นภาพ เด็กเริ่มสนใจกับเส้นและรูปร่างเรขาคณิตมากขึ้น
|
|